ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหลักฐานและข้อมูลเกี่ยวกับซากสิ่งที่มีชีวิตในมหายุค Mesozoic ซึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่ยุค Triassic ไปจนกระทั่งถึงยุค Cretaceous โดยได้พบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ทั้งซากพืชซากสัตว์มากมายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ได้มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรธรณี กับประเทศฝรั่งเศส โดยหน่วยงาน Centre national de la recherche scientifique (CNRS) เพื่อทำความสำรวจสัตว์มีกระดูกสันหลังของประเทศในมหายุค Mesozoic โดยใช้ชื่อภายใต้โครงการว่า “Thai-French Cooperation on Mesozoic from Thailand” ได้ค้นพบสถานที่ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของตัวอย่างฟอสซิลที่มีค่ามากมาย และได้นำผลงานวิจัยและค้นคว้าไปสู่การตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติหลายเรื่อง เช่น การค้นพบซากไดโนเสาร์พันธ์ใหม่ คือ Cretaceous sauropod Phuwiangosaurus sirindhornae ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่พึ่งค้นพบเป็นที่แรกในโลกและได้ ตีพิมพ์ลงในวารสาร Comptes Rendus de I Academis des Sciences ปี พ.ศ. 2537) และได้ค้นพบTyrannosaur (Siamotyrannus isanensis) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด (ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ปี พ.ศ. 2543) ผลงานเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ในสาขาบรรพชีวินวิทยาของประเทศต่างๆ สนใจในการค้นคว้าวิจัยซากดึกดำบรรพ์ที่มีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เป็นสถาบันที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีซากดึกดำบรรพ์มากมายหลายชนิด โดยข้อมูลจากกรมทรพยากรธรณีระบุว่า ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ใน 11 จังหวัด จาก 19 จังหวัดในภาคนี้ ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดที่ผลิตบุคลากรทางด้านบรรพชีวินวิทยา

 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล็งเห็นว่าสถาบันมีความพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับบทบาทหน้าที่นี้ ทั้งในด้านการวิจัยค้นหาซากดึกดำบรรพ์ ในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศ จึงได้มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาดังนี้ 2-5 กรกฏาคม 2543 รศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการของ สกว. กับ CNRS เรื่อง “ Dynamics of Biodiverity” ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และได้แจ้งให้ที่ประชุมได้ทราบในนามของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าความสนใจที่จะเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้าน บรรพชีวินวิทยา กรกฎาคม-กันยายน 2543 คณะวิทยาศาสตร์ โดยความเห็นชอบของอธิการบดี ได้ร่วมกับ Dr. Eric Buffetaut ซึ่งสังกัด CNRS และ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ซึ่งสังกัดกรมทรัพยากรธรณี เพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงาน ตุลาคม 2543 ทั้งสามหน่วยงานได้ยื่นข้อเสนอโครงการฉบับย่อ ในหัวข้อเรื่อง “The Evolution of Mesozoic Biodiversity in Thailand” เอกสารประกอบ 1 ต่อที่ สกว. และ CNRS มกราคม 2544 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับแจ้งจาก สกว. ว่าข้อเสนอโครงการดังกล่าวอยู่ในข่ายที่จะได้รับการสนับสนุน และเห็นสมควรให้พัฒนาขึ้นเป็น โครงการเต็มรูปแบบเพื่อขอรับการสนับสนุน 13 กุมภาพันธ์ 2544 Dr. Gills Cuny จากประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางมาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ในการให้พัฒนารายวิชาที่เกี่ยวข้องในหลักสูตรชีววิทยา และเพื่อดำเนินการวิจัยทางด้านนี้พร้อมกับการถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ให้กับนักวิจัยของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Dr. Gills Cuny ทำงานกับคณะวิทยาศาสตร์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 20 กุมภาพันธ์ 2544 คณะผู้วิจัยของ Dr. Eric Buffetaut และของ ดร.วราวุธ สุธีธร ได้หารืออธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 28 กุมภาพันธ์ 2544 ศาสตราจารย์วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส (สกว.- CNRS) ได้แวะเยี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของ มมส. ต่อการสร้างบุคลากรด้านบรรพชีวินวิทยา 1 ตุลาคม 2544 Dr. Lionel Cavin จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์และ Dr. Petra Lutatจากประเทศเยอรมณี ได้มาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยมหาสาคามในฐานะผู้มีความรู้ความสามรถสาขาบรรพชีวินวิทยา ร่วมกันดำเนินการสอนและวิจัยเกี่ยวกับบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 1 พฤศจิกายน 2545 Dr. Ute Richter จากประเทศเยอรมณีได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถ สาขาบรรพชีวิน ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 24 กุมภาพันธ์ 2546 Dr. Peter Griffiths จากประเทศอังกฤษได้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถสาขา บรรพชีวินวิทยา ดำเนินงานการเรียนการสอนให้กับนิสิตปริญญาโท สาขาชีววิทยา (บรรพชีวิน) ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 13 สิงหาคม 2547 Dr. Emmanuel Fara จากประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยาและเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมของเครือข่ายบรรพชีวิน 24 สิงหาคม 2547 ดร.จงพันธ์ จงลักษมณี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อมาปรึกษาเรื่องความร่วมมือระหว่างเครือข่ายบรรพชีวินทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ

 

ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2545 มีมติให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการในรูปแบบการบริหาร เน้นการจัดการโดยใช้หลักประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติบรรพชีวินวิทยาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาโดยมุ่งเน้นจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย และเป็นศูนย์รวมนักวิจัยด้านบรรพชีวินในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านบรรพชีวินวิทยาในระดับสากล ภารกิจที่สำคัญในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญก็คือ ผลิต ส่งเสริม และเผยแพร่งานวิจัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และถ่ายทอดพัฒนาความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาให้แก่ชุมชน รวมทั้งการพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านงานวิจัย เพื่อให้กิจกรรมและผลงานด้านบรรพชีวินวิทยา เป็นที่แพร่หลาย นอกจากจะมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยแล้ว ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรมทรัพยากรธรณี พิพิธภัณฑ์สิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม European Association of Vertebrate Palaeontologists (EAVP) Centre national de la recherche scientifique (CNRS) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่าง 27-30 ตุลาคม 2545 ผลการดำเนินงานสำเร็จด้วยดี และระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2553 จะจัดให้มีการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยสาขาบรรพชีวินทั่วโลก และเป็นการประชาพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย

 

จากการดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เตรียมความพร้อมเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เข้ามาสนใจในเรื่องบรรพชีวินวิทยา และเพื่อให้การดำเนินการมีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การสนับสนุนด้านงบประมาณในระยะเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นโครงการนี้ จึงใคร่ขอเสนอแนะแผนการดำเนินการและงบประมาณที่ใช้ในเบื้องต้นและในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย และพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 กำหนดให้การบริหารและการดำเนินงานของส่วนงานภายในให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย